เรียน ท่านผู้ถือหุ้น

ในปี 2563 ทั่วโลกประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) ส่งผลให้เกิดวิกฤติทางสาธารณสุข ภาครัฐในหลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อจำกัดการแพร่ระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หดตัวร้อยละ 3.5 และเศรษฐกิจไทยลดลงร้อยละ 6.1

ในฐานะคณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทในภาพรวม จึงได้ประเมินผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและปรับแผนการดำเนินธุรกิจให้พร้อมรับมือกับวิกฤตด้านต่างๆ เช่น การรักษาสภาพคล่องและสถานะทางการเงิน บริหารจัดการกระแสเงินสด มีการทบทวนค่าใช้จ่าย แผนการลงทุน เสนอสินค้าใหม่เพื่อรองรับความต้องการของตลาด รวมถึงศึกษาและใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการบรรเทาผลกระทบที่ได้จากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย นอกจากนี้ บริษัทได้นำนโยบายลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือ นโยบาย “USE” มาใช้บริหารงานภายในองค์กร

สำหรับผลการดำเนินงานปีบัญชี 2563/2564 มีรายได้จากการขายรวม 9,569.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.3 และมีกำไรสุทธิรวม 1,221.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มาจากทั้ง 3 ธุรกิจหลัก โดยธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น แม้ยอดขายในประเทศยังเติบโตช้าตามการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง แต่เริ่มเห็นสัญญานการฟื้นตัวในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากฉนวนแอร์โรเฟลกซ์เป็นสินค้าจำเป็น (Essential Product) ที่ใช้ในระบบปรับอากาศ อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง อุตสาหกรรมยา และคลีนรูม สำหรับธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ฟื้นตัวกลับมาได้ดีกว่าคาดตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปีบัญชี 2563/2564 อีกทั้งธุรกิจในออสเตรเลียมียอดขายเพิ่มขึ้นเนื่องจากประชากรออสเตรเลียท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น จึงมีความต้องการใช้งานอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ เพื่อเพิ่มสมรรถนะ และความปลอดภัยในการขับขี่ สำหรับธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ได้รับผลกระทบจากการอุปโภคบริโภคภายในประเทศลดลง แต่ได้รับประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภท กล่องใส่อาหารชดเชย เนื่องจากผู้บริโภคนิยมสั่งอาหารเดลิเวอร์รี่ หรือซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้านมากขึ้น จึงเห็นได้ว่าสินค้าของบริษัทเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุค New Normal

ทั้งนี้ จากการพิจารณาผลการดำเนินงานที่ผ่านมาคณะกรรมการบริษัทจึงมีมติให้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2563/2564 ในอัตราหุ้นละ 0.09 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 252 ล้านบาท โดยได้จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นแล้วเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 และมีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563/2564 เพื่อขออนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปีในอัตราหุ้นละ 0.19 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 532 ล้านบาท หากรวมทั้งปีจะมีการจ่ายปันผลรวม 784 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64.2 ของผลกำไรสุทธิ (Payout ratio)

ความสำเร็จของกลุ่มบริษัท คือ การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม การเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายระดับโลก เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

องค์กรแห่งนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ (Creative Innovation Organization)

บริษัทตระหนักดีว่านวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เติบโตอย่างยั่งยืนและอยู่ได้กับทุกการเปลี่ยนแปลง นอกเหนือจากการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงของการเกิดภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัย จากการระบาดของ Covid-19 บริษัทตระหนักถึงความเดือดร้อนและความยากลำบากในการจัดหาหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพได้มาตรฐานความปลอดภัย จึงมีแนวคิดที่จะช่วยเหลือสังคมบรรเทาความเดือนร้อน โดยนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนจากการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาร่วมกันของหน่วยงานภายในกลุ่มบริษัท จึงได้ตกผลึกแนวคิดเรื่องของการผลิตสินค้านวัตกรรมหน้ากากอเนกประสงค์ EP Kare ตัวหน้ากากผลิตจากพลาสติกประเภท Polypropylene พิเศษ 2 ชั้น สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ด้วยการเปลี่ยนแผ่นกรอง สินค้าล็อตแรกจำนวน 200,000 ชิ้น นำไปบริจาคให้แก่หน่วยงานต่างๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ อีกจำนวนหนึ่งนำไปแจกจ่ายให้กับพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท

การทำธุรกิจในตลาดโลก (Global Market)

สำหรับการดำเนินงานเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต Aeroflex USA Inc. สหรัฐอเมริกา ลงทุนสร้างโรงงานใหม่เพิ่มเติมเนื่องจากเห็นโอกาสการเติบโต อีกทั้งติดตั้งเครื่องจักรระบบ High Speed Automation จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งการลงทุนใหม่นี้จะเพิ่มกำลังการผลิตประมาณ 2 เท่าของกำลังการผลิตในสหรัฐอเมริกา สำหรับธุรกิจในออสเตรเลีย TJM Products Pty.Ltd. ได้เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายแบบออนไลน์ เพื่อความสะดวกของลูกค้าในการเลือกซื้อสินค้าและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดจำหน่าย อีกทั้งเตรียมจัดตั้ง บริษัท ทีเจเอ็ม เอเชียแปซิฟิค จำกัด เพื่อขยายกิจการอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์และเสริมสร้างความปลอดภัย ภายใต้แบรนด์ TJM ในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

นอกจากนี้ บริษัทได้ดูแลสุขภาพอนามัยของพนักงานที่ปฏิบัติงานตามฐานการผลิตในประเทศต่างๆ จากปัญหาการแพร่ระบาดของ Covid-19 โดยมีมาตรการคุมเข้มป้องกันการแพร่ระบาดภายในโรงงาน มีการคัดกรอง และการแยกโซนการทำงานในแต่ละส่วนงานอย่างชัดเจน อีกทั้ง ในสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย บริษัทได้รับเงินช่วยเหลือจากมาตรการบรรเทาผลกระทบที่ได้จากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากโครงการ JobKeeper เพื่อนำมาดูแลพนักงาน เป็นจำนวน 112 ล้านบาท

การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน (To create Sustainable Growth)

การเติบโตของบริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยึดมั่นตามวิสัยทัศน์ขององค์กรที่จะเติบโตขึ้นด้วยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์พัฒนาสินค้าคุณภาพเป็นประโยชน์ต่อสังคมและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนสร้างความมั่นคงของเครือข่ายธุรกิจรองรับการเติบโตในตลาดโลก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน คณะกรรมการบริษัทยึดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจส่งผลให้ในปีบัญชี 2563/2564

ในนามของคณะกรรมการบริษัทขอขอบคุณ พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า ผู้ถือหุ้น และผู้สนับสนุนในทุกๆ ด้านที่ให้การสนับสนุนและให้ความไว้วางใจบริษัทด้วยดีเสมอมา และขอให้เชื่อมั่นว่าบริษัทมีเจตนารมณ์ที่จะดำเนินธุรกิจให้เจริญเติบโตบนพื้นฐานของธรรมาภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มเป็นสำคัญ

 

นายวัชรา ตันตริยานนท์
(ประธานกรรมการ)

ดร. ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์
(รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร)

บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)